การแก้ปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่ ต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องใน 2 เรื่องคือ การช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่แล้วให้เลิกสูบบุหรี่ และรณรงค์ป้องกันไม่ให้เยาวชนไปเสพติดบุหรี่ ซึ่งจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 59 เป็นร้อยละ 39 (เฉพาะเพศชาย) แต่เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ในปี พ.ศ.2556 จึงลดลงจากปี พ.ศ.2534 เพียงเล็กน้อย และที่น่าเป็นห่วงคือ แนวโน้มการสูบบุหรี่กลับสูงขึ้นในกลุ่มเยาวชนและสตรี ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทบุหรี่ได้พัฒนาเทคนิคการตลาด รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด เพื่อหาลูกค้ารายใหม่ที่เฉลี่ยติดบุหรี่เมื่ออายุ 17.4 ปี จำนวนอย่างน้อย 100,000 คนในแต่ละปี ทดแทนผู้สูบบุหรี่ที่เลิกสูบหรือเสียชีวิต
ขณะนี้มีเยาวชนอายุ 15-18 ปี ติดบุหรี่แล้วถึง 353,898 คน ซึ่งเด็กไทยที่สูบบุหรี่ทุก ๆ 10 คนนั้น 7 คน จะติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต นั่นคือ เด็กไทย 247,728 คน ที่ติดบุหรี่แล้ว จะติดไปตลอดชีวิต ซึ่งครึ่งหนึ่งหรือ 123,864 คน จะป่วยและเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในอนาคต จากสถิติที่พบว่า เยาวชนกลุ่มอายุ 15-18 ปี หรืออายุน้อยกว่านี้ มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่วงจรการเสพติดบุหรี่ ดังนั้น การป้องกันนักสูบหน้าใหม่จึงเป็นมาตรการที่สำคัญยิ่ง
นอกจากนี้ จากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยที่ติดบุหรี่กว่าครึ่งเริ่มสูบก่อนอายุ 19 ปี เมื่อมีการเริ่มสูบและติดแล้ว มีเพียงร้อยละ 27 เท่านั้น ที่สามารถเลิกได้ ส่วนอีกร้อยละ 73 จะติดไปตลอดชีวิต ดังนั้นหากเราสามารถช่วยกันป้องกันเด็กอายุต่ำกว่า 19 ปี ไม่ให้เริ่มสูบบุหรี่ ก็จะช่วยหยุดการเติมนักสูบบุหรี่หน้าใหม่เข้าสู่วงจรการสูบ การป่วย และการตายจากบุหรี่ ยิ่งกว่านั้น หากเยาวชนตกเป็นทาสของการเสพติดบุหรี่แล้ว ก็จะเป็นด่านแรกของการก้าวไปสู่สิ่งเสพติดและอบายมุขที่ร้ายแรงชนิดอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าดีใจที่วัยรุ่นในวันนี้ ได้ลุกขึ้นมาบอกสังคมว่าไม่เลือกบุหรี่ และไม่เอาบุหรี่มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ในขณะที่บริษัทบุหรี่จ้องเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นตาเป็นมัน เพราะรู้ดีว่าลูกค้าของเขาที่ติดบุหรี่แล้ว ล้วนเริ่มสูบตอนเป็นวัยรุ่นเกือบทั้งสิ้น หากสังคมทุกภาคส่วนช่วยกันคนละไม้คนละมือ มีการสร้างปัจจัยเอื้อ ทั้งมาตรการทางสังคมและมาตรการทางกฎหมาย เพื่อป้องกันเด็ก Gen Z จากการเสพติดบุหรี่ ก็จะช่วยสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี
ดังนั้น หากเราจะลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ การป้องกันเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ให้เริ่มสูบจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดร.ศรัณญา เบญจกุล อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยข้อมูลการสำรวจ สถานการณ์การบริโภคยาสูบของประชากรไทยในช่วง 24 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2534 – 2558) พบว่า จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงจาก 12.2 ล้านคนในปี 2534 เป็น 10.9 ล้านคนในปี 2558 ในจำนวนนี้ พบว่าเป็น Gen Z ที่มีอายุ 15-18 ปี 3.1 แสนคน ซึ่งหากเราช่วยกันปกป้อง Gen Z จากการเริ่มสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ก็จะสามารถลดนักสูบหน้าใหม่ได้ถึงร้อยละ 90 และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2558 - 2562 ที่เน้นการป้องกันมิให้เกิดผู้เสพรายใหม่และเฝ้าระวังธุรกิจยาสูบที่มุ่งเป้าไปยังเด็ก เยาวชน และนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งถ้าหากเรารณรงค์และป้องกันเด็กไทย จากการเสพติดบุหรี่ โดยเฉพาะกลุ่ม Generation Z คือ ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2538 - 2552 หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 7 - 20 ปี ในปี 2559 ซึ่งมีจำนวนเกือบ 12 ล้านคน ก็จะสามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลงได้
ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ จึงได้จัดทำโครงการ “ปกป้อง Generation Z จากการสูบบุหรี่” เพื่อเชิญชวนให้ทุกภาคส่วน ร่วมกันเผยแพร่รณรงค์และประชาสัมพันธ์ ร่วมสร้าง Generation Z ปลอดบุหรี่ และสร้างกระแสสังคมให้ร่วมกันปกป้องเด็กและเยาวชนไทย โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก Generation Z ไม่ให้ริเริ่มสูบบุหรี่
ที่ผ่านมา มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้ดำเนินโครงการนี้ภายใต้แผนงาน ซึ่งได้พัฒนาสื่อประเภท คลิปวิดีโอ Gen Z Gen Strong เลือกไม่สูบไว้ 4 ตอน โดยได้รับความร่วมมือจากนักแสดง ประกอบด้วย น้องสกาย วงศ์รวี นทีธร, น้องพี สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร, น้องต้นหน ตันติเวชกุล ดารานักแสดงและผู้กำกับจากซีรีย์ฮอร์โมน ซีซั่น 3, น้องลิลลี่ อภิชญา ทองคำ เดอะเฟส, น้องน้ำตาล นฤมล วีรวัฒโนดม, น้องเติร์ด ลภัส งามเชวง คามิกาเซ่, น้องมะเฟือง ณัฐชยา นิ่มสมุทร Net idol เป็นศิลปินที่เยาวชนชื่นชอบ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง คุณทรงยศ สุขมากอนันต์ (คุณย้ง)
ในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม 2559 ได้ปล่อยคลิปดังกล่าว 1 ตอน ผ่านเครือข่าย Social Media ทั้ง Facebook, YouTube และ IG เผยแพร่โดยขอความร่วมมือ ส่งผลให้เกิดการรับรู้ประเด็นดังกล่าว มีกระแสทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวางในกลุ่มเยาวชน มีสถิติดังนี้
ดังนั้น เพื่อให้เกิดกระแสอย่างต่อเนื่อง มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จึงพัฒนาโครงการต่อเนื่องเพื่อขยายผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและสร้างกระแสผ่านสื่อออนไลน์กับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว และขยายเครือข่ายเยาวชนที่ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
เพื่อรณรงค์และป้องกันเด็กรุ่นใหม่ Generation Z (เด็กที่อายุระหว่าง 7 - 20 ปี) ไม่ให้เริ่มสูบบุหรี่
เพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพให้เกิดแกนนำและเครือข่ายเยาวชน
เพื่อสนับสนุนภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่
เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ Generation Z ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2538 - 2552 หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 7 - 20 ปีทั่วประเทศ
การขับเคลื่อนโครงการนี้ จะมุ่งเน้นในการปกป้องเยาวชนกลุ่ม Generation Z คือ เยาวชนที่อายุระหว่าง 7 - 20 ปี มิให้ริเริ่มสูบบุหรี่ โดยเน้นการสร้างกระแสสนับสนุนผ่านเครือข่ายออนไลน์ ซึ่งเป็นสื่อที่เข้าถึงเยาวชนกลุ่มนี้ รวมทั้งสร้างและพัฒนาสมรรถนะเยาวชนกลุ่มต่าง ๆ ให้มีบทบาทในการรณรงค์ และกระตุ้นให้ภาคีเครือข่ายในภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโดยบูรณาการเข้าในแผนงานการดำเนินกิจกรรม
สร้างกระแสสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารผ่านทาง social media และระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้ถือเป็นเป้าหมายร่วมและร่วมดำเนินการในบริบทของแต่ละองค์กร
ดำเนินกิจกรรมโดยการสนับสนุนจังหวัดนำร่อง เพื่อดำเนินกิจกรรม Gen Z ไม่สูบ
การส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนกลุ่มอื่น ๆ เข้ามามีบทบาทหลักในการรณรงค์
พัฒนาองค์ความรู้และกระบวนการในการติดตามประเมินผลโครงการ
ประสานงานเชื่อมกับคณะกรรมการการศึกษาจังหวัดเพื่อให้มีการจัดตั้งเครือข่าย Gen Z ไม่สูบบุหรี่ในจังหวัดเพื่อเป็นแกนกลางให้เด็กและเยาวชนมีเวทีพูดคุยและจัดกิจกรรมต่าง ๆ
จากจุดเริ่มต้นที่ จุดกระแสความเป็น GenZ Strong : เลือกไม่สูบ ทำให้เกิดกิจกรรมอื่น ๆ ตามมา เพื่อเชื่อมและแชร์สิ่งดี ๆ และเปิดโอกาสให้เหล่า GenZ ทั่วประเทศ มีพื้นที่ในการโชว์ศักยภาพของตัวเอง และพร้อมกันนี้ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ก็จัดกิจกรรมเสริมหนุ่น เพื่อพัฒนา และเติมความรู้ด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับควบคุมยาสูบให้กับเหล่า GenZ เช่นกัน กิจกรรมที่จัดขึ้นได้แก่ การอบรมพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ การเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้าร่วมการสัมมนา หรืออบรมระดับประเทศ โดยกระบวนการต่าง ๆ จะเน้นให้ เยาวชน GenZ มีส่วนร่วมในการระดมความคิด เสนอความคิดเห็น และดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม หรืองานต่าง ๆ ในพื้นที่ของตัวเอง ส่งผลให้ 2 ปี ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการภายใต้ กระแสรณรงค์ GenZ GenStrong : เลือกไม่สูบ มี 8 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน พิษณุโลก อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีษะเกษ กระบี่ ที่ดำเนินกิจกรรมโดย GenZ เอง
เลือกไม่สูบ ที่ดำเนินงานนั้น ได้แก่ การสนับสนุนให้ Gen Z เข้าร่วมจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ และสร้างความตระหนักในพิษภัยของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และรู้เท่าทันกลยุทธ์บริษัทบุหรี่ เพื่อมิให้ Gen Z ริเริ่มสูบบุหรี่ในอนาคต ความรู้ด้านกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกับเยาวชน การทำคลิปเจ๋ง ๆ โดน ๆ การรดมความคิดผ่าน Visual Note โดยมีภาพรวมความสำเร็จ มีดังนี้
เปิดเพจสำหรับเยาวชน เป็นช่องทางในการสื่อสารข้อมูลและกิจกรรม โดยมียอด Like เพจ จำนวนรวมทั้งสิ้น 6,291 คน นอกจากนี้ ยังเปิดช่องทางการสื่อสารทาง Line/ IG/ twitter ภายใต้ @genzstrong เพื่อให้เกิดการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง
พัฒนาสมรรถนะแกนนำเยาวชน Gen Z และสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายแกนนำเยาวชน Gen Z Gen Strong ที่มีศักยภาพในการดำเนินงาน
เยาวชน Gen Z ในสังกัดของภาคีหรือภาคส่วนควบคุมยาสูบ ได้รับการอบรมในประเด็น Gen Z กว่า 4,000 คน
เกิดพื้นที่นำร่องในการขับเคลื่อนงานปกป้องเด็ก Gen Z จากการสูบบุหรี่ และเด็กแกนนำ Gen Z มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนานโยบายและมาตรการในการควบคุมยาสูบในระดับท้องถิ่น
เกิดพื้นที่นำร่อง
ต้องปลอดบุหรี่และอบายมุข
ต้องกล้าแสดงออก
ต้องรักการเรียนรู้
ต้องคิดดีและ มีจิตสาธารณะ