วันที่  21 มกราคม 2568 มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดเวที “เติมพลัง ปลุกความคิด สร้างสังคมปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเติมทักษะ ที่เป็นประโยชน์ในการเสริมสมรรถนะ การขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบ ให้กับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม  ที่ร่วมดำเนินงานสนับสนุนการทำงาน 4 ภาค พร้อมเชิดชูเกียรติ โดยมอบรางวัลเหรียญเกียรติยศนักขับเคลื่อนสังคมไทยปลอดบุหรี่ 
         
ฯพณฯ องคมนตรี นายพลากร สุวรรณรัฐ  ประธานพิธีมอบเหรียญเกียรติยศนักขับเคลื่อนสังคมไทยปลอดบุหรี่  กล่าวแสดงความยินดี กับผู้ที่ได้รับรางวัลเหรียญเกียรติยศนักขับเคลื่อนสังคมไทยปลอดบุหรี่ ว่า  “ผมขอชื่นชมท่านทั้งหลายด้วยความจริงใจ  ที่ได้เสียสละ กำลังกาย กำลังสติปัญญา ในการสนับสนุนการรณรงค์ควบคุมการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมกันรณรงค์สื่อสาร เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร  ความคิด และปลูกฝังค่านิยมของการไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า  ในทุก ๆ ส่วนของสังคมไทย   ทั้งในครอบครัว   โรงเรียน  ชุมชน   และสถานที่ทำงาน ในช่วงตลอดระยะเวลากว่า 39 ปี ซึ่งส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่องทำให้ทุกภาคส่วนของสังคมไทยวันนี้เกิดความตื่นตัวและตระหนักถึงพิษภัยของการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างกว้างขวาง ทำให้อัตราการสูบบุหรี่  จำนวนคนสูบบุหรี่ลดลง  และอัตราการเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ เช่น มะเร็งปอด และถุงลมปอดพองลดลง”
       ฯพณฯ องคมนตรี นายพลากร สุวรรณรัฐ  กล่าวเพิ่มเติมว่า “แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาที่ท้าทายขึ้นมาใหม่จากการระบาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ หรือบุหรี่ไฟฟ้า ที่ระบาดรุนแรงในเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ   มีความเสี่ยงสูงที่จำนวนคนสูบบุหรี่ที่ลดลง    จะกลับเพิ่มขึ้นมาใหม่  ผมเชื่อมั่นว่า หากสังคมทุกภาคส่วน  ทั้งภาครัฐและเอกชนช่วยกันคนละไม้คนละมือ    มีการสร้างปัจจัยเอื้อ ทั้งมาตรการทางสังคมและมาตรการทางกฎหมาย  เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนไทย   จากการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า  ก็จะช่วยสร้างคนรุ่นใหม่ ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี  ด้วยความมุ่งมั่น  และตั้งใจจริงของทุกฝ่าย  ที่จะร่วมมือกันผลักดันให้กิจกรรมเช่นนี้ขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ จะทำให้อนาคตของเด็กและเยาวชนไทย เติบโตขึ้นมา  อย่างมีคุณภาพ  และรอดพ้นจากควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า”
       ขณะที่ นางสาวแสงเดือน สุวรรณรัศมี ผู้จัดการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากการดำเนินงานด้านการควบคุมยาสูบของภาคีเครือข่ายมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 5 ภาคี  อันประกอบด้วย เครือข่ายสื่อมวลชนส่วนภูมิภาคปลอดบุหรี่, เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่, เครือข่าย Gen Alpha ปลอดบุหรี่, เครือข่าย Gen Z  GenStrong : เลือกไม่สูบ และ เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ที่ร่วมดำเนินงานและสนับสนุนการทำงานใน 4 ภารกิจหลัก ซึ่งประกอบด้วย 1) การผลักดันและสนับสนุนการพัฒนานโยบายและกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบ 2) การปกป้องเด็กเล็กจากควันบุหรี่และป้องกันเยาวชนจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 3) การส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคีในระดับชุมชนขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบ และ 4) พัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้และสื่อสนับสนุนการรณรงค์ควบคุม    การสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดบทเรียนการเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบ ทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่นทั่วประเทศ
       นางสาวแสงเดือน กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดเวที “เติมพลัง ปลุกความคิด สร้างสังคมปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” ครั้งนี้ มีภาคีร่วมงานดังกล่าวกว่า 311 คน จาก 52 จังหวัด 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ  ซึ่งบางภาคีมีการดำเนินงานด้านควบคุมยาสูบยาวนานต่อเนื่องกว่า 10 ปี ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และมีจิตอาสาในการร่วมกันเผยแพร่รณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า  จึงได้มีการมอบรางวัลเหรียญเกียรติยศนักขับเคลื่อนสังคมไทยปลอดบุหรี่ จำนวน 60 รางวัล เพื่อเชิดชูเกียรติ และเป็นขวัญกำลังใจสำหรับคนทำงานด้านนี้ โดยรางวัลดังกล่าวมอบให้คนทำงานทั้งประเภทบุคคล และกลุ่มเครือข่าย ซึ่งได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ องคมนตรี นายพลากร สุวรรณรัฐ มาเป็นประธานในพิธี
       ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า  สถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทยย้อนหลัง 30 ปีที่ผ่านมา ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ถือว่าแนวโน้มดีขึ้น โดยข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร ปี พ.ศ. 2564 พบว่า ในจำนวนประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป    มีจำนวนเพิ่มเป็น 56.1 ล้านคน แต่มีคนสูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน นั่นคือ จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ลดลง สวนทางกับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 17.6 ล้านคน ในระหว่างปี 2534 – 2564 ขณะที่จำนวนคนที่สูบบุหรี่ไม่เพียงแต่ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่กลับลดลงเหลือ 10.9 ล้านคน จาก 12.3 ล้านคน ในปี 2534
       แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาที่ท้าทายขึ้นมาใหม่จากการระบาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ หรือบุหรี่ไฟฟ้า ที่ระบาดรุนแรงในเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ เป็นปัญหาระดับชาติ ที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าขยาย  วงกว้างไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่เด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า   จะเกิดการเสพติดนิโคตินไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นสารเดียวกันกับที่มีอยู่ในบุหรี่ธรรมดา
จากการสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey: GYTS) ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มนักเรียนอายุ 13-15 ปี พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 17.6% ในปี 2565 จากเดิมอยู่ที่ 3.3% ในปี 2558 เทียบเท่ากับเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า และมีผู้เริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้าอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 7 ปี จากกลยุทธ์การตลาดของบริษัทผู้ผลิตที่มุ่งเป้าเยาวชน สร้างภาพลักษณ์ให้บุหรี่ไฟฟ้าเหมือนของเล่น มีกลิ่นหอม และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้าระบาดรุนแรงในเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งปราบปรามผู้ที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ยังมีช่องว่างทำให้สินค้าแพร่กระจายทั้งทางตรงและออนไลน์ แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย
       ดังนั้น  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคีเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือกันทั้งระดับนโยบายและการสื่อสารรณรงค์ที่ต่อเนื่อง รวมถึงครูและผู้ปกครอง จะต้องรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า ไม่เช่นนั้นจะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ที่ลดลง มีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้จำนวนคนสูบบุหรี่ที่ลดลงไปแล้วกลับเพิ่มขึ้นมาใหม่ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ
รายชื่อ ชมรม Gen Z  16  แห่ง   ที่ได้รับมอบรางวัลเหรียญเกียรติยศนักขับเคลื่อนสังคมไทยปลอดบุหรี่  ได้แก่ 

1. ชมรม Gen Z โรงเรียนวังโป่งศึกษา จังหวัดเพชรบูรณ์

 
 

2. ชมรม Gen Z โรงเรียนเพชรพิทยาคม จังหวัดเพชรบูรณ์
 
   

3. ชมรม Gen Z โรงเรียนบ้านเข็กน้อย จังหวัดเพชรบูรณ์


 
  

4. ชมรม Gen Z โรงเรียนบ้านห้วยลาด จังหวัดเพชรบูรณ์

 
  

5. ชมรม Gen Z โรงเรียนนครไทย  จังหวัดพิษณุโลก

 
  

6. ชมรม Gen Z โรงเรียนประภัสสรวิทยา วัดศรีนวล  จังหวัดขอนแก่น

 
  

7. ชมรม Gen Z โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จังหวัดขอนแก่น

 
  

8. ชมรม Gen Z โรงเรียนบ้านหว้า  จังหวัดขอนแก่น

 
  

9. ชมรม Gen Z โรงเรียนอนุบาลอัจฉรา จังหวัดนครราชสีมา

 
  

10. ชมรม Gen Z โรงเรียนบ้านใหม่สำโรง  จังหวัดนครราชสีมา

 
  

11. ชมรม Gen Z โรงเรียนสุรนารีวิทยา ๒ จังหวัดนครราชสีมา

 
  

12. ชมรม Gen Z โรงเรียนม่วงสามสิบ (อำนวยปัญญา) จังหวัดอุบลราชธานี

 
  

13. ชมรม Gen Z โรงเรียนนารีนุกูล  จังหวัดอุบลราชธานี

 
  

14. ชมรม Gen Z โรงเรียนหางดงรัฐราษฎร์อุปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่

 
  

15. ชมรม Gen Z โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล  กรุงเทพมหานคร

 
  

16. ชมรม Gen Z โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย  จังหวัดกระบี่